วันศุกร์ที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2551

แนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยีการศึกษา

เทคโนโลยี (Technology)
คำว่า Technology มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก คือ Tech หมายถึง Art ในภาษาอังกฤษ และคำว่า Logos หมายถึง A study of ดังนั้น Technology จึงหมายถึง A study of art เทคโนโลยี มิใช่หมายถึงเฉพาะเครื่องจักรกับคนเท่านั้นแต่เป็นการจัดระเบียบที่มีบูรณาการและมีความซับซ้อน อันประกอบด้วยคน เครื่องจักร ความคิด วิธีการ และการจัดการ Dr. Edgar Del ได้ให้ความหมายของคำว่า "เทคโนโลยี" ว่า เทคโนโลยีมิใช่เครื่องมือ แต่เป็นแผนการ วิธีการทำงานอย่างมีระบบ ที่ทำให้บรรลุ ตามแผนการ และจาก Dictionary of Education ของ Carter V. Good กล่าวว่า เทคโนโลยี หมายถึงการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ มาใช้ในสาขา วิชาต่าง ๆ เพื่อปรับปรุงระบบการทำงานให้มีประสิทธิภาพ รองศาสตราจารย์ ชม ภูมิภาค กล่าวว่า เทคโนโลยี ที่มีความหมายกว้างและเป็นความคิดที่ถูกต้อง ใช้ได้กับทุกสังคม ทุกสภาวะ ก็เห็นจะได้แก่ คำจำกัดความที่ Galbrith ให้ไว้ คือ "การประยุกต์อย่างมีระบบของความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และความรู้ด้านอื่นอันจัดระเบียบดีแล้ว ต่องานปฏิบัติ ทั้งหลาย" จากคำจำกัดความของคำว่า เทคโนโลยีที่มีผู้ให้ความหมายไว้หลายท่านดังกล่าวแล้วจะเห็นว่าแต่ละท่านก็ได้ให้ความหมายไปในทางที่สอดคล้องกัน คือ หมายถึงการนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และความรู้ด้านอื่นอันจัดระเบียบดีแล้ว มาประยุกต์อย่างมีระบบ เพื่อใช้ในสาขาต่าง ๆ ด้วยการใช้ ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ประหยัดทั้งเวลา ค่าใช้จ่าย และแรงงาน สามารถนำไปใช้ในสถานการณ์จริง เพื่อแก้ปัญหา ให้บรรลุจุดมุ่งหมายอย่างมี ประสิทธิภาพทั้งเป็นการจัดระเบียบที่ใบูรณาการและความซับซ้อนอันประกอบไปด้วยคนเครื่องจักร วิธีการ และการจัดการ ปัจจุบันเทคโนโลยีถูกนำมาใช้ในทุกวงการ เช่น นำมาใช้ในวงการแพทย์ เรียกว่า เทคโนโลยีทางการแพทย์ (Medical Technology) นำมาใช้ทาง การเกษตร เรียกว่า เทคโนดลยีทางการเกษตร (Agricultural Technology)นำมาใช้ทางการอุตสาหกรรม เรียกว่า เทคโนโลยีทางอุตสาหกรรม (Industrial Technology) นำมาใช้ทางการสื่อสาร เรียกว่า เทคโนโลยีการสื่อสาร (Communication Technology) และนำมาใช้ในวงการอื่น ๆอีก มากมาย รวมทั้งนำมาใช้ในวงการศึกษา ที่เรียกว่า เทคโนโลยีทางการศึกษา (Educational Technology)

เทคโนโลยีทางการศึกษา (Educational Technology)
เทคโนโลยีทางการศึกษาหมายถึงการนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตรมาประยุกต์ ในการแก้ปัญหาการศึกษา การศึกษา หมายถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม อันเนื่องมาจาก ประสบการณ์และพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปนั้น ต้องเป็นที่ยอมรับของสังคม สภาเทคโนโลยีทางการศึกษานานาชาติ ได้ให้คำจำกัดความของ เทคโนโลยีทางการศึกษาว่า เป็นการพัฒนาและประยุกต์ระบบเทคนิคและอุปกรณ์ ให้สามารถนำไปใช้ในสถานการณ์จริงได้อย่างเหมาะสม เพื่อสร้างเสริมการเรียนรู้ของคนให้ดียิ่งขึ้น
ความหมายของเทคโนโลยีทางการศึกษาที่ใช้กันทั่ว ๆ ไป หมายถึงการระดมสรรพความรู้ที่มีเหตุผล (พิสูจน์ได้) มาประยุกต์ให้เป็นระบบที่ดี สามารถนำไปใช้ในสถานการณ์จริง เพื่อแก้ใขปัญหาให้บรรลุจุดมุ่งหมาย (เป้าประสงค์) ของการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด โดยการใช้ทรัพยากร อย่างประหยัด รองศาสตราจารย์ ดร.เปรื่อง กุมุท กล่าวว่า เทคโนโลยีการศึกษา คือ ระบวนการที่ซับซ้อนและประสานสัมพันธ์อย่างมี บูรณาการระหว่างบุคคล วิธีการ แนวคิด เครื่องมือ และการจัดระบบองค์การ สำหรับวิเคราะห์ปัญหา หาวิธีแก้ปัญหา ดำเนินการ ประเมินผล และจัดการแก้ปัญหาเหล่านั้น ซึ่ง เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับทุกลักษณะของการเรียนรู้ อันที่จริง แก่นแท้ของเทคโนโลยีการศึกษา ก็คือ วิธีการแก้ปัญหาให้แก่การศึกษาด้วยการคิดไตร่ตรองหาทางปรับปรุงเกี่ยวกับการเรียนการสอน ด้วยการตั้งข้อสงสัย และทำไปอย่างเป็นระบบ ก่อนหน้าที่จะมีการกล่าวถึงเทคโนโลยีทางการศึกษา เราคุ้นเคยอยู่กับ โสตทัศนศึกษากันแล้ว แม้กระทั่งเดี่ยวนี้ คนก็ยังคิดว่า โสตทัศศึกษา ก็คือ เทคโนโลยีทางการศึกษา และเทคโนโลยีทางการศึกษา ก็คือ โสตทัศนศึกษา ที่คิดอย่างนั้น ก็มีส่วนถูกอยู่บ้าง โดยเฉพาะความคิดแรก แต่มันมีความถูกต้องไม่มากนักหรือเกือบผิด ก็ว่าได้ ความคิดหลังนั้น ถูกตรงที่ โสตทัศนศึกษาเป็นเพียงส่วนหนึ่งของเทคโนโลยีทางการศึกษาเท่านั้น
รองศาสตราจารย์ ดร.เปรื่อง กุมุท กล่าวว่า แต่ก่อน คนที่ทำงานด้านโสตทัศนศึกษา หรือนักโสตทัศนศึกษา เรามองว่าเป็น "ผู้บริการ" โดยเฉพาะ การบริการทางด้านการจัดหา การใช้เครื่องมือโสตทัศนูปกรณ์ และการผลิตสื่อการสอนให้แก่ครูผู้สอน ดังนั้น บทบาทของเขาโดยสรุปก็คือ เป็นบริกร ที่ทำหน้าที่จัดหา ผลิตสื่อการสอน และควบคุมเครื่องโสตทัศนูปกรณ์ต่าง ๆ เมื่อมีผู้ต้องการใช้
ความคิดที่เปลี่ยนไป จริงอยู่ เราคุ้นอยู่กับภาพของนักโสตทัศนศึกษาที่เชี่ยวชาญทางการ ใช้เครื่องไฟฟ้าอีเล็คทรอนิกส์ที่เป็น นักวาด ที่เป็นช่างภาพ แม้กระทั่งช่างไม้ ช่างสี อะไรไปนั่น จนเป็นทัศนะขึ้นมาว่า นั่นคือนักโสตทัศนศึกษา เราก็เลยถือโอกาสขอบริการจากเขาในเรื่องที่เกี่ยวกับเทคนิคเฉพาะเหล่านั้น จนภาพของเขาออกมาในรูปนั้น แท้จริงแล้ว ถ้าเราจะขอรับบริการ ในเรื่องเทคนิคเฉพาะต่าง ๆ ดังกล่าวมาแล้ว เขาก็มีคนอยู่แล้ว ไม่ ต้องมี วุฒิถึงระดับปริญญาก็ได้ เอาแค่ ปวส. เราก็สามารถได้ช่างไฟฟ้า อีเล็คทรอนิกส์ ช่างวาด หรือกราฟิกส์ ช่างภาพ ช่างอะไรต่อช่างอะไร เรียกว่าช่างเทคนิคนั่นเอง เท่านี้ก็พอ สำหรับนักเทคโนโลยีนั้น เป็นนักประยุกต์ นักประยุกต์ก็คือนักคิด คือคิดถึงเรื่องจะนำความรู้ หรือเครื่องมืออะไรดี มาช่วยให้งานที่กำลังทำอยู่ หรือกำลังจะทำ มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ ได้ผลดี และประหยัด เรื่องเหล่านี้ต้องอาศัยนัก เทคโนโลยีทางการศึกษาในการคิดทั้งวิธีการทำงาน กับคิดทั้งเครื่องมือที่จะใช้งาน การคิดนี้ พูดไปอีกทีก็คือ "การออกแบบ" (Designing) ออกแบบทั้งวิธีการ หรือที่เรียกว่า "ระบบ"การทำงาน กับออกแบบเครื่องมือ หรือ สิ่งที่จะใช้กับงาน เช่น งานการเรียนการสอน เป็นต้น คำว่า เทคโนโลยี กับคำว่า เทคนิค นั้น มักมีผู้เข้าใจสับสน เพื่อให้สามารถวิเคราะห์ความแตกต่างของ เทคโนโลยี และเทคนิคได้อย่างชัดเจน คำว่า เทคนิค นั้น หมายถึงหลักการหรือวิธีการใช้ ซ่อม ติดตั้งบำรุงรักษาเครื่องมือให้ใช้งานหรือทำงานให้ได้ ดีที่สุด ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ รู้จักวิธิใช้เครื่องมือ ซ่อมเครื่องมือและบำรุงรักษาเครื่องมืออย่างดี เรียกว่า ช่างเทคนิค (technician) ส่วนเทคโนโลยีนั้น หมายถึงการใช้ทรัพยากรให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในการแก้ปัญหา และผู้ที่นำเทคโนโลยีมาใช้ เรียกว่า นักเทคโนโลยี(Technologist)
ส่วนมากคนจะเหมาเอาว่า นักเทคโนโลยีทางการศึกษา หรือนักโสตทัศนศึกษา คือคนที่ต่อเครื่องขยายเสียง ต่อสายลำโพง ติดตั้งไมโครโฟนควบคุมเสียง ช่างถ่ายรูป ถ่ายวีดีโอ ซ่อมวิทยุ โทรทัศน์ พัดลม เตารีด หรือ บางองค์การยังเข้าใจไปว่า นักเทคโนโลยีทางการศึกษาหรือ นักโสตทัศนศึกษาคือช่างไฟฟ้าเสียด้วยซ้ำไปเรื่องเหล่านี้ก็ต้องอาศัยผู้ที่มีความรู้ความชำนาญในสาขานั้น ๆ เช่น เหตุขัดข้องเรื่องของระบบไฟฟ้าในอาคาร หรือตามท้องถนน ก็ควรเป็นหน้าที่ของช่างไฟฟ้าหากเกิดเหตุขัดข้องในเรื่องของเครื่องรับวิทยุ, โทรทัศน์, เครื่องบันทึกเสียง, เครื่องขยายเสียง, เครื่องเล่น CD, เครื่องเล่นวิดีโอ ฯลฯ ชำรุด ก็ควรเป็นหน้าที่ของช่างอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ยิ่งปัจจุบัน มีการใช้คอมพิวเตอร์กันมาก ทั้งแบบ Stand Alone ทั้งที่ต่อกันเป็นระบบ LAN (Local Area Network) และ Internet ทำให้คนเหมาเอาเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ หรือเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล หรือ ตำแหน่งอะไรก็แล้วแต่ที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ ในสถานศึกษา ว่า เป็นนักเทคโนโลยีทางการศึกษาเข้าไปด้วย เพราะเขาเหล่านั้น ทำงานเกี่ยวกับ Presentation ด้วยโปรแกรม Microsoft PowerPoint ให้แก่ครูอาจารย์ หรือผู้บริหาร ได้อย่างสวยงาม แต่บางครั้ง ก็อ่านไม่ออกบนจอภาพ (Projection Screen) ขนาดใหญ่ สำหรับกลุ่มเป้าหมาย หรือผู้ชม ผู้ฟัง จำนวนมาก เช่น การใช้ สีของอักษรและสีพื้น ไม่เหมาะสม หรือใช้ขนาดของอักษร ไม่เหมาะสม ที่เรียกว่า ไม่เกิด Readability บางครั้ง ทำให้ผู้ชม ผู้ฟัง เข้าใจสับสนเกี่ยวกับหัวข้อเรื่องต่าง ๆ ในการนำเสนอ ที่ไม่มีความเป็น Unity ของเรื่องย่อยแต่ละเรื่อง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้แหละที่เราควรจะให้เกียรตินักเทคโนโลยีทางการศึกษา ให้เขาได้มีโอกาสรับใช้ ก่อนที่จะนำผลงานที่น่าภาคภูมิใจ ขึ้นบนเวทีอันทรงเกียรติ

บทบาทของเทคโนโลยีทางการศึกษากับการเรียนการสอน
เทคโนโลยีทางการศึกษามีบทบาทสำคัญต่อการศึกษามาก เพราะว่า 1. เทคโนโลยีส่งเสริม Individualized Instruction 2. เทคโนโลยีช่วยให้ไม่ต้องทำการสาธิตจริง ๆ เช่น ภาพยนตร์ เทปโทรทัศน์ หรือการเลียนแบบด้วย คอมพิวเตอร์แทน 3. เทคโนโลยีช่วยทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนทัศนะระหว่างครูกับนักเรียน ให้เป็นไปโดยรวดเร็ว และดีกว่าชั้นเรียนที่ไม่มีการใช้เครื่องกลไกเลย 4. เทคโนโลยีจะช่วยทวีคูณความรู้แก่นักเรียนมากยิ่งขึ้น เช่นการใช้วิทยุศึกษา โทรทัศน์วงจรปิด คอมพิวเตอร์ เช่น บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน (Computer Assisted Instruction) หรือที่เราได้ยินกันจนคุ้นเคยว่า CAI การสอนทางไกลผ่านดาวเทียม

การเข้าสู่ระบบ (System Approach)
นักเทคโนโลยีให้ความเห็นว่า การแก้ปัญหาใด ๆ ก็ตาม จะกระทำโดยความนึกคิด ความเชื่อ และการตัดสินใจของคนใดคนหนึ่งเพียงคนเดียว ย่อมไม่ได้ผลดี ถ้าปัญหานั้น เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชน เราจำเป็นต้องใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ การอาศัยเหตุผลของกลุ่มชนที่เกี่ยวข้องกับปัญหา เป็นผู้พิจารณาร่วมกัน วิธีการแก้ปัญหาแบบนี้ เรียกว่าแนวเข้าสู่ระบบ (System Approach)
การนำ System Approach มาใช้ เป็นการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างประหยัด ให้เหมาะสมกับสิ่งแวดล้อม และสถานการณ์ เพื่อให้การทำงานบรรลุจุดมุ่งหมายอย่างมีประสิทธิภาพ มีหลักพิจารณาว่า ระบบใดมีประสิทธิภาพ หรือมีประโยชน์มากน้อยเพียงใด จากองค์ประกอบ 3 ประการ คือ
1. Input
2. Process
3. Output
ถ้าระบบการทำงานใด Output (ทั้งปริมาณและคุณภาพ) มากกว่า Input เราก็ถือว่ารับบนั้น มีประสิทธิภาพ ถ้าระบบใด Output น้อยกว่า Input เราถือว่าระบบนั้นมีประสิทธิภาพต่ำ การที่จะแสวงหาแนวเข้าสู่ระบบ (System Approach) ได้นั้น ต้องใช้วิธีการวิเคราะห์ระบบ (System Analysis)

การวิเคราะห์ระบบ (System Analysis)
การวิเคราะห์ระบบ เพื่อแสวงหาระบบที่เหมาะสม จะทำการวิเคราะห์โดยกลุ่มบุคคลที่มาจากบุคคลในส่วนต่าง ๆ ของระบบ เพราะการทำงานเป็นระบบ เราถือว่าทุกส่วนของระบบซึ่งบางครั้งเราเรียกว่า ระบบย่อย มีความสำคัญเท่าเทียมกัน แต่ละระบบทำงานในหน้าที่รับผิดชอบให้ดีที่สุด แล้วระบบรวมจะทำงานได้ดีที่สุด การวิเคราะห์ระบบ มีองค์ประกอบ 8 ประการ คือ
ขั้นที่ 1 การรวบรวมสิ่งที่เป็นปัญหา (identify problem) เราต้องศึกษาอย่างละเอียดว่ามีปัญหาใด ๆ บ้างจะทำให้เราไม่บรรลุจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้ โดยการศึกษาระบบอย่างละเอียด
ขั้นที่ 2 กำหนดความมุ่งหมายของการแก้ปัญหา (define problem) เมื่อปัญหาที่รวบรวมมามีมากมาย ต้องกำหนดให้แน่ชัดลงไปว่า ในการแก้ปัญหาครั้งนี้ เราจะแก้ปัญหาอะไรบ้างจากปัญหาทั้งหมด เพราะเราไม่สามารถแก้ปัญหาได้หมดทุกปัญหา เราเลือกปัญหาที่สามารถแก้ได้ก่อน
ขั้นที่ 3 พิจารณาขอบเขตเพื่อการศึกษาข้อจำกัดทางทรัพยากร (analyse problem) ขั้นนี้เราต้องพิจารณาแยกระบบให้เป็นส่วนสัด และระบุหน้าที่ของส่วนต่าง ๆ พยายามหาทรัพยากรที่จะนำไปใช้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และสิ่งแวดล้อมในการแก้ปัญหา
ขั้นที่ 4 พิจารณาเลือกแนวทางแก้ปัญหา (generate alternative solutions) เราอาจจะมีวิธีการแก้ปัญหาเดียวกันได้หลายวิธี แต่เราควรจะหานวัตกรรมมาแก้ปัญหา คือการสร้างสรรค์ที่เกิดจากการที่เรามองสิ่งต่าง ๆ ในมุมใหม่ การเสนอวิธีการแก้ปัญหาหลาย ๆ วิธี เพื่อจะเลือกเอาวิธีที่ดีที่สุด
ขั้นที่ 5 พิจารณาแนวทางแก้ปัญหาที่ปฏิบัติได้จริง (select best solutions) การแก้ปัญหาแต่ละวิธีที่เสนอ อาจจะมีข้อดีข้อเสียต่างกัน เช่น บางวิธีอาจจะใช้จ่ายสูง บางวิธีทรัพยากรในท้องถิ่นไม่มี เราเลือกเอาวิธีที่ดีที่สุดที่คิดว่าเหมาะสมที่จะใช้ในสถานการณ์ตามความเป็นจริงมากที่สุด
ขั้นที่ 6 วางแผนเตรียมทดลองปฏิบัติกับกลุ่มย่อย (design action programme) เมื่อเราเลือกวิธีการที่จะแก้ปัญหาแล้ว จะต้องเตรียมวัสดุและวิธีการนั้น ไปทดลองกับกลุ่มหรือสถานการณ์ที่เป็นตัวอย่าง
ขั้นที่ 7 ทดลองปฏิบัติกับกลุ่มย่อย (experiment programme) นำวิธีการที่จะแก้ปัญหา ไปทดลองแก้ปัญหาจริง ๆ กับกลุ่มย่อยหรือสถานการณ์ตัวอย่างเสียก่อน ว่าได้ผลเพียงใด ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่สุด และเชื่อว่าเป็นหัวใจของการวิเคราะห์ระบบ
ขั้นที่ 8 ประเมินผลการทดลอง เพื่อปรับปรุงแก้ไขและนำไปใช้กับประชากร (monitor programme) เมือทดลองและแก้ไขจนเป็นที่พอใจแล้ว จึงนำไปใช้กับประชากรจริง ๆ ที่เราต้องการจะแก้ปัญหา

ขั้นตอนของการเข้าสู่ระบบทางการสอน
ขั้นตอนของการเข้าสู่ระบบทางการสอน มี 9 ขั้น คือ
1. ตั้งจุดมุ่งหมายของการสอนให้แน่นอน ซึ่งจะต้องเป็นจุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม (behavioural objective) คือเป็นจุดมุ่งหมายที่ผู้เรียนสามารถแสดงออกเป็นพฤติกรรมที่วัดได้ ว่าพฤติกรรมขั้นสุดท้ายหลังจากสิ้นสุดการเรียนการสอนแล้ว ผู้เรียนสามารถทำอะไรได้บ้าง
จุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม คือเป้าประสงค์ที่จะให้ผู้เรียนแสดงพฤติกรรมที่สามารถวัดและสังเกตได้ หรือเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเมื่อการเรียนสิ้นสุดลง
2. ศึกษาประสบการณ์เดิมของผู้เรียน เราจำเป็นต้องศึกษาภูมิหลังของผู้เรียน เช่น พื้นฐานความรู้ ความสนใจ สภาพสังคม สิ่งแวดล้อม วัฒนธรรม เป็นต้น เพื่อจะได้จัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับประสบการณ์เดิมของผู้เรียน
3. วางแผนการสอน ไม่มีวิธีสอนวิธีหนึ่งวิธีใดที่เหมาะสมกับการเรียนการสอนทุกสถานการณ์ ผู้สอนต้องพิจารณาถึงจุดมุ่งหมายของการสอนที่เราคาดหวังเอาไว้ จะต้องพิจารณาประสบการณ์เดิมของผู้เรียน รวมทั้งพิจารณาทางด้านทรัพยากรที่มีอยู่ในสถานการณ์นั้น ๆ เพื่อนำมาใช้ในการเรียนการสอนให้เหมาะสม จะทำให้การวางแผนการสอนบรรลุจุดมุ่งหมายที่วางไว้อย่างมีประสิทธิภาพ
ผู้วางแผนที่ดี จะต้องคำนึงถึงสภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนว่า สถานการณ์ที่ทำให้การเรียนรู้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ คือสถานการณ์ดังต่อไปนี้
3.1 Active Participation คือให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอน ไม่ใช่เป็นผู้ฟังอย่างเดียว
3.2 Immediate Feedback ให้ผู้เรียนทราบผลของการปฏิบัติ หรือผลการเรียน ผลการกระทำกิจกรรมของตนโดยเร็ว
3.3 Successful Experience ให้มีประสบการณ์แห่งความสำเร็จ ในสถานการณ์การเรียนรู้ ถ้าผู้เรียนสามารถทำกิจกรรมในขั้นตอนใดขั้นตอนหนึ่ง ก็จะเป็นการเสริมแรง ให้ผู้เรียน สนใจ ตั้งใจ มีกำลังใจ อยากจะเรียน หรือปฏิบัติกิจกรรมในขั้นต่อ ๆ ไป
3.4 Gradual Approximation เป็นการจัดสภาพการเรียนรู้ให้ผู้เรียน เรียนไปทีละขั้นตอน จากง่ายไปหายาก เรียนรู้จากสิ่งที่คล้ายคลึงกับประสบการณ์เดิมไปสู่สิ่งใหม่เป็นขั้นตอนทีละน้อย
4. การจัดเตรียมสิ่งอำนวยความสะดวกในการสอน เช่น สถานที่เรียน การจัดที่นั่ง ที่วางวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ จัดสถานที่ให้เหมาะสมกับวิธีการสอน ไม่จำเป็นต้องให้ผู้เรียนหันหน้ามาทางหน้าชั้นเรียนอย่างเดียวเท่านั้น อาจจัดเป็นรูปตัวยู วงกลม หรือครึ่งวงกลม ขึ้นอยู่กับการวางแผนการสอน
5. บุคลากรในการเรียนการสอน บุคคลสำคัญคือผู้เรียน และบุคคลต่อมาคือผู้สอน การเรียนการสอน ผู้สอนไม่จำเป็นต้องสอนด้วยตนเองทั้งหมด ผู้เรียนบางคนอาจมีความสามารถให้ความรู้แก่เพื่อน ๆ ได้ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมาย และการวางแผนการสอน
6. การใช้สื่อการสอน เนื่องจากสื่อการสอนมีมากมาย ผู้สอนจำเป็นต้องตัดสินใจเลือกสื่อที่จะใช้ในการเรียนการสอนให้บรรลุจุดมุ่งหมาย โดยคำนึงถึงประสบการณ์เดิม การตอบสนองของผู้เรียน และสื่อที่สามารถจัดหาได้ โดยพิจารณาถึง
ก. ตรงจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้
ข. เหมาะกับการตอบสนองของผู้เรียนที่คาดว่าจะได้รับ
ค. เหมาะกับประสบการณ์เดิมของผู้เรียน
ง. เป็นสื่อการสอนที่พอหาได้
ในทางเทคโนโลยีทางการศึกษา เราอาจจำแนกสื่อการสอนออกได้ 3 ลักษณะ คือ
1. Hardware ได้แก่สื่อใหญ่ทั้งหลาย ซึ่งมักประกอบไปด้วยกลไกไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องฉายสไลด์ , เครื่องฉายภาพข้ามศีรษะ (Overhead Projector) เครื่องเล่นวิโอเทป, เครื่องเล่น CD, เครื่องคอมพิวเตอร์ กล้องถ่ายภาพ, กล้องถ่ายวิโอ, เครื่องรับโทรทัศน์ เป็นต้น ตัวของมันเองแทบจะไม่มีประโยชน์ต่อการสื่อความหมาย ถ้าไม่มีความรู้ในรูปแบบอื่นมาป้อนผ่านเครื่องมือเหล่านี้ ตัวอย่างเช่น เครื่องฉายสไลด์ ก็ต้องมีภาพสไลด์ มาป้อนแล้วฉายไปบนจอ จึงจะสื่อความหมายได้ เครื่องคอมพิวเตอร์ ก็ต้องมีโปรแกรมต่าง ๆ ที่เรียกว่า Software มันจึงจะทำงาน หรือสื่อความหมายได้ เป็นต้น
2. Software ได้แก่สื่อเล็กที่เราเรียกว่าวัสดุ บางแบบต้องอาศัย Hardware ในการนำเสนอ เช่น ภาพสไลด์ ก็ต้องอาศัยเครื่องฉายสไลด์ ม้วนวิดีโอเทป ที่เป็นรายการบทเรียนต่าง ๆ ก็ต้องอาศัยเครื่องเล่น หรือเครื่องฉายวิดีโอเทป บทเรียนคอมพิวเตอร์ช่วยสอน ที่เขียนไว้ ใน CD-ROM ก็ต้องอาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์ เป็นต้น แต่ Software บางชนิดก็ไม่ต้องอาศัย Hardware ในการนำเสนอ เช่น แผนที่, แผนภาพ, แผนภูมิ , ภาพพลิก, แผนสถิติ เป็นต้น ตัวของมัน สามารถสื่อความหมายได้ในตัวของมันเอง
3. Technique or Methods เป็นเทคนิค หรือวิธีการถ่ายทอดความรู้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นสื่อการสอน เช่น การสาธิต, การแสดงละคร, การแสดงบทบาทสมมุติ, การจัดนิทรรศการ, การศึกษานอกสถานที่ เป็นต้น

ขั้นที่ 7 ทดลองสอน ผู้สอนควรจะทดลองสอนตามแผนที่วางไว้ กับผู้เรียนกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อศึกษาข้อบกพร่อง นำไปปรับปรุงการสอนในความเป็นจริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ขั้นที่ 8 ขั้นดำเนินการสอนตามแผนที่วางไว้ เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้
ขั้นที่ 9 การประเมินผลและการปรับปรุง การเรียนการสอนที่ดี เมื่อการสอนเสร็จสิ้น เราต้องประเมินผลว่า การเรียนการสอนบรรลุจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้เพียงใด วิธีการที่ใช้ในการเรียนการสอน และสื่อการสอน เหมาะสมกับผู้เรียนหรือไม่ ควรจะปรับปรุงอะไรบ้าง เพื่อจะทำให้การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นต่อไป

เทคโนโลยีการสอน
การสอน คือการกระทำทั้งหลายที่เป็นระบบของครูเพื่อส่งเสริมให้ความความสะดวกต่อ การเรียนรู้ของผู้เรียน การเสนอจึงเป็นระบบของการกระทำของครู ซึ่งจะต้องพิจารณาว่าระบบ การสอนนั้นย่อมประกอบด้วยหลายส่วน แต่ละส่วนนั้นมีผลต่อกันและกันทุกส่วนในระบบ มุ่งให้ เกิดการเรียนรู้ในตัวผู้เรียน และผลการเรียนรู้นั้นเองมีผลต่อส่วนต่างๆ ในระบบด้วยกิจกรรม ในการสอนนั้น ย่อมมีทั่งกิจกรรมในการเตรียมการ และการปฏิบัติกับผู้เรียน การเตรียมการ นั้นอาจจะได้แก่การเตรียมบทเรียน จัดห้องเรียน จัดอุปกรณ์ในชั้นเรียน การให้คะแนน การ อ่านหนังสือ การนึกถึงพฤติกรรมบางอย่างของนักเรียน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นตอนที่ครูอยู่คน เดียว ซึ่งเรียกว่า Practive Teaching ตอนสอนที่กระทำร่วมกับนักเรียนนั้นเรียกว่า Interactive Teaching นั้น คุณภาพทางสมองต้องรวดเร็ว ต้องมีการปรับตัวอย่างรวดเร็ว .
Interactive Teaching นั้นมีหลายสถานะ อาจจะเป็นแบบสาธารณะ กึ่งสาธารณะ หรือ เป็นส่วนตัว การสอนแบบสาธารณะนั้นครูกับนักเรียนหันหน้าเข้าหากัน ส่วนแบบส่วนตัวนั้น อาจ นั่งเคียงกัน เสียงเบาลง เกิดความเป็นกันเองมาก และมีการสอดแทรกมากกว่า

เทคโนโลยีการสอน (Instructional Technology) หมายถึงการออกแบบ การพัฒนาการใช้ และการประเมินผลการเรียนการสอนอย่างมีระบบ โดยยึดจุดประสงค์เฉพาะ การวิจัยเกี่ยวกับ การเรียนรู้และการสื่อสารของมนุษย์เป็นพื้นฐาน รวมทั้งการใช้แหล่ง ทรัพยากรมนุษย์ร่วมกัน เพื่อให้เกิดผลเป็นการสอนที่มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ จากความ หมายดังกล่าว เราจะเห็นว่าเทคโนโลยีทางการสอนนั้น เป็นการจัดการเกี่ยวกับการสอนที่มี ระบบ ซึ่งจะต้องพิจารณาส่วนต่างๆ ที่ประกอบกันเข้าหลายส่วน เริ่มตั้งแต่จุดประสงค์ และส่วน อื่นๆ ซึ่งมีทั้ง เป็นเรื่องของคน และมิใช่คน การพิจารณาการออกแบบและการปฏิบัติ เช่นนี้จะต้องอาศัย ผลของการวิจัยเกี่ยวกับการเรียนรู้ และการสื่อสารของมนุษย์ จะถือว่า การกระทำทุกขั้นตอน และทุกส่วนนั้นเป็นระบบเดียวกัน ทุกส่วนมีผลเกี่ยวเนื่องกัน การเปลี่ยนแปลงส่วนใดส่วนหนึ่ง ย่อมมีผลทำให้เปลี่ยนแปลงส่วนอื่นๆ ไปด้วย ที่ว่าการออกแบบ การพัฒนา การใช้ และ การประเมินผลการเรียนการสอนอย่างมีระบบนั้น คำว่า ระบบ (System) นั้น มีผู้ให้ คำจำกัดความไว้หลายแห่ง เช่น Webster's Seventh New Collegiate Dictionary ได้ให้ความหมายของระบบไว้ว่า เป็นกลุ่มของสิ่งต่างๆ ซึ่งต่างก็พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน หรือมีปฏิพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้เกิดส่วนรวม ที่เป็นเอกภาพ บางคนกล่าวว่า เป็นโครงสร้างหรือองค์การของส่วนรวม ที่มีความเป็นระเบียบ และให้เห็นความสัมพันธ์ ของส่วนต่างๆ และความสัมพันธ์ของแต่ละส่วนกับส่วนรวมทั้งหมด อย่างชัดเจน ดังนั้น เทคโนโลยีย่อมจะต้องมีส่วนต่างๆ มากมาย และแต่ละส่วนมีผล ต่อกันและกัน และต่างก็มุ่งเพื่อให้มุ่งหมายร่วมกัน การใช้เทคโนโลยีในกิจกรรมต่างๆ จึงเป็นเรื่องที่จะต้อง พิจารณาถึงผลรวมของส่วนต่างๆ ที่จะมีต่อกันและกัน ตลอดจนการที่ ส่วนต่างๆ จะมีผลต่อ ความสำเร็จของหน่วยงานอย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ
ส่วนในด้านความหมายของการสอนซึ่งตรงกับคำว่า Instruction มีผู้ให้ความหมายไว้ ต่างๆ กัน เช่น การสอนเป็นการถ่ายทอดความรู้จากบุคคลหนึ่งไปยังอีกบุคคลหนึ่ง การสอน เป็นการสร้าง การใช้ และปรับปรุงยุทธศาสตร์และยุทธวิธีของการสอนในห้องเรียนการสอน เป็นการกระทำที่เป็นระบบของครู เพื่อสร้างภาวะอันจะก่อให้เกิดความสะดวกแก่การเรียนรู้ ของผู้เรียน หากพิจารณาความหมายของการสอนตามนัยดังกล่าวมาแล้ว ความหมายของ การสอนที่กล่าวว่า "เป็นการกระทำที่เป็นระบบของครู เพื่อสร้างภาวะอันจะก่อให้เกิดความ สะดวกแก่การเรียนรู้ของผู้เรียน" เป็นความหมายของการสอนที่มีความหมายกว้าง ครอบคลุม ลักษณะของพฤติกรรมการเรียนรู้สมัยใหม่ที่สุด เพราะการเรียนรู้นั้นนักเรียนเป็นผู้กระทำเอง ภายใต้ภาวะที่ผู้สอนสร้างขึ้น เมื่อการสอนมีความหมายดังกล่าวเช่นนี้แล้ว เทคโนโลยีการสอน จึงเป็นการดำเนินการอย่างมีระบบ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิผล หากถือว่าการศึกษา เป็นระบบ (System) การสอนก็เป็นระบบรองของการศึกษา เทคโนโลยีการสอนจึงเป็นชุดรอง หรือระบบรอง (Sub-set หรือ Sub-System) ของเทคโนโลยีทางการศึกษา



อ้างอิงจาก
http://www.bcnlp.ac.th/~sophon/techno/edtech-conceptno1.html

0 ความคิดเห็น: